กีฬารักบี้ฟุตบอล
(Rugby Football)
เป็นกีฬาประเภททีมชนิดหนึ่งที่มีวิวัฒนาการมาจากกีฬาแอสโซซิเอชั่นฟุตบอล
(Association Football)
ซึ่งคนไทยรู้จักกันในชื่อกีฬาฟุตบอล
แรกเริ่มของกีฬาชนิดนี้กล่าวกันว่า
มีขึ้นครั้งแรกในระหว่างการแข่งขันแอสโซซิเอชั่นฟุตบอลที่โรงเรียนรักบี้
(Rugby School)
ซึ่งเป็นพับลิคสกูลที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ
เมื่อคริสต์ศักราช ๑๘๒๓ (พ.ศ. ๒๓๖๖)
โดยระหว่างการแข่งขันวิลเลียม เวบบ์ เอลลิส
(William Webb Ellis)
ได้คว้าลูกฟุตบอลไว้ในอ้อมแขนของตัวเขา
แล้วออกวิ่งไปข้างหน้าโดยไม่ใส่ใจต่อกฎกติกาการแข่งขันฟุตบอล
กีฬาชนิดนี้จึงมีชื่อเรียกในเวลาต่อมาว่า
รักบี้ฟุตบอล
ตามชื่อโรงเรียนที่เป็นต้นกำเนิดของกีฬาชนิดนี้
ต่อมาในคริสต์ศักราช
๑๘๔๕ (พ.ศ. ๒๓๘๘)
นักเรียนโรงเรียนรักบี้จึงได้ช่วยกันร่างกฎกติกาการเล่นกีฬาชนิดนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก
แล้วจึงได้มีการจัดตั้งสมาพันธ์กีฬารักบี้ฟุตบอล
(Rugby Football Union)
เป็นองค์กรกลางของกีฬาชนิดนี้
อนึ่ง
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
นอกจากจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้พระราชโอรสออกไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษเป็นพื้นแล้ว
ยังมีนักเรียนไทยทั้งที่ได้รับพระราช-ทานทุนเล่าเรียนหลวงและทุนของครอบครัวออกไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษเป็นจำนวนมาก
นักเรียนไทยเหล่านั้นบางส่วนได้เข้าเรียนในพับลิตสกูลซึ่งมีการเล่นกีฬารักบี้ฟุตบอล
และได้เล่นกีฬาชนิดนี้ต่อเนื่องกันมาในระหว่างที่กำลังศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ
นอกจากนั้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น
มีชาวยุโรปโดยเฉพาะชาวอังกฤษที่เข้ามารับราชการและประกอบการค้าในประเทศไทยจำนวนหนึ่ง
ได้นำกีฬาชนิดต่างๆ
ที่นิยมเล่นกันในยุโรปรวมทั้งกีฬารักบี้ฟุตบอลเข้ามาเล่นกันเองที่ราชกรีฑาสโมสร
(Royal Bangkok Sport club) โดยมีบันทึกว่า
ในตอนต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้เริ่มจัดการแข่งขันรักบี้ฟุตบอล ชิงถ้วย
Hampshine
ระหว่างสมาชิกของราชกรีฑาสโมสรซึ่งล้วนเป็นชาวต่างประเทศ
โดยมีชุดเข้าแข่งขัน ๓ ทีม คือ England, Scotland
และ The Rest
ต่อมาใน
พ.ศ. ๒๔๖๓
นักเรียนไทยที่ได้ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ
และได้เคยเล่นรักบี้ฟุตบอลระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ
อาทิ คุณล้วน ณ ระนอง
ซึ่งเคยเป็นนักรักบี้ฟุตบอลของ
มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด (University of Oxford)
ถึงชั้นได้เสื้อสามารถ (Grey hound) เป็นเกียรติยศ
รวมทั้งหม่อมเจ้าคัสตาวัส จักรพันธ์
หม่อมเจ้าประสพศรี จิรประวัติ และพระสุทัศน์
พงศ์พิสุทธิ์ (ม.ล.กิ่ง สุทัศน์)
ซึ่งสำเร็จการศึกษากลับมาจากประเทศอังกฤษได้ไปร่วมเล่นกีฬาชนิดนี้ที่ราชกรีฑาสโมสร
แล้วจึงได้ร่วมกันฝึกหัดคนไทยให้รู้จักการเล่นกีฬาชนิดนี้
แต่ด้วยเหตุที่เมื่อมีการจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่
พ.ศ. ๒๔๕๘ เป็นต้นมา
มักจะมีข่าววิวาทกันในระหว่างการแข่งขันฟุตบอล
ทั้งในระหว่างคู่แข่งขันและในระหว่างผู้ชมด้วยกันจนถึงมีการแทงกันตาย
อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักกีฬาโรงเรียนทหารถูกห้ามเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งกรุงสยาม
(ปัจจุบันคือ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย
ในพระบรมราชูปถัมภ์)มาจนถึงบัดนี้
ในเมื่อกีฬาฟุตบอลซึ่งไม่มีการปะทะกันหนักๆ
เช่นกีฬารักบี้ฟุตบอลยังมีการวิวาทกันในสนามกีฬาอยู่เนืองๆ
ในเวลานั้นจึงเชื่อกันว่า
ไทยเราเล่นไม่ได้
เพราะถ้าเล่นเข้าก็ได้ต่อยกันตาย
[๑]
ด้วยเหตุผลดังกล่าว
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้นักเรียนโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ที่ ๔
โรงเรียน คือ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง
โรงเรียนราชวิทยาลัย โรงเรียนมหาดเล็กหลวง
และโรงเรียนพรานหลวง
เล่นแต่กีฬาแอสโซซิอเอชั่นฟุตบอล
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้รวมโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
และพระราชทานนามให้ใหม่ว่า โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้ว
ในช่วงแรกนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยยังคงเล่นกีฬาแอสโซซิเอชั่นฟุตบอลเป็นพื้นต่อมา
ราว
พ.ศ. ๒๔๗๓ ในสมัยที่พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ
ปันยารชุน)
ซึ่งเป็นนักเรียนเก่าโรงเรียนโชรส์เบอรี่ (Sherwsbury
School) พับลิคสฏุลชั้นนำของประเทศอังกฤษแห่งหนึ่ง
ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยนั้น
กล่าวกันว่า หม่อมเจ้าประสพศรี จิรประวัติ
และพระสุทัศน์ พงศ์พิสุทธิ์
ได้เข้ามาแนะนำและฝึกสอนนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยให้รู้จักการเล่นกีฬารักบี้ฟุตบอล
จนสามารถจัดการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในงานประจำปีของโรงเรียน ที่สนามวชิราวุธวิทยาลัย
(สนามหน้า) เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๕
ในระหว่างชุดนักเรียนเก่าและนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยที่กำลังศึกษาอยู่ในเวลานั้น
นับเป็นครั้งแรกทึคนไทยได้แข่งขันรักบี้ฟุตบอลกันเองโดยไม่มีชาวต่างชาติร่วมทีมเลย
ในวันนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสว่า
วันนี้เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นนักเรียนไทยเล่นฟุตบอลล์รักบี้
ฟุตบอลอย่างนี้เคยมีคนพูดกันว่า ไทยเราเล่นไม่ได้
เพราะถ้าเล่นเข้าก็ได้ต่อยกันตาย
แต่วันนี้ก็เห็นเล่นได้โดยเรียบร้อย ซึ่งแปลว่า
โรงเรียนนี้
สามารถฝึกหัดให้นักเรียนมีน้ำใจเป็นนักกีฬาแท้ได้จริง
นี่เป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกปลาบปลื้มมาก
ต่อมา
พ.ศ. ๒๔๘๑ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ
ได้ทรงริเริ่มก่อตั้งสมาคมรักบี้ฟุตบอลแห่งประเทศไทยขึ้น
เพื่อส่งเสริมกีฬาชนิดนี้
และได้มีการเรียกประชุมผู้สนใจเป็นครั้งแรกที่ราชกรีฑาสโมสร
มีชาวต่างประเทศเข้าประชุมหลายท่าน
ส่วนคนไทยก็มีผู้แทนของราชตฤณมัยสมาคมแห่งกรุงสยาม
ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้แทนกองทัพอากาศ
และผู้แทนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้แก่
นายอาร์ ดับเบิลยู ดีน (E.W. Dean)
หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี
หม่อมเจ้าประสพศรี จิระประวัติ เป็นต้น
ที่ประชุมได้ลงมติให้ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมขึ้นโดยมี
พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์
ทรงเป็นนายกสมาคมฯ พระองค์แรกของสมาคม
และได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายในปี พ.ศ. ๒๔๘๒
 |
โล่อุปนายกกิตติมศักดิ์ ของ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ
หลวงพิบูลสงคราม หลวงประดิษฐมนูธรรม
สำหรับการแขงขันรักบี้ฟุตบอลรุ่นเยาว์ (ประเภทโรงเรียน)
ตามระเบียบของไทย รักบี้ ฟุตบอลล์ ยูเนี่ยน (สมาคมรักบี้ฟุตบอลแห่งประเทศไทย
ในพระบรมราชูปถัมภ์) |
เมื่อมีการจัดตั้งสมาคมรักบี้ฟุตบอลแห่งประเทศไทยขึ้นแล้ว
นอกจากสมาคมฯ
จะได้จัดให้มีการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลประเภทสโมสรชิงถ้วย
British Council
เป็นการแข่งขันชิงชนะเลิศประเมศไทยแล้ว ใน พ.ศ.
๒๔๘๓ สมาคมฯ
ยังได้ส่งเสริมให้มีการเล่นกีฬารักบี้ฟุตบอลในระดับเยาวชน
โดยจัดให้มีการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลชิงโล่อุปนายกกิตติมศักดิ์ของ
กรมหมื่นพิทยาลงกรณ หลวงพิบูลสงคราม
หลวงประดิษฐมนูธรรม สำหรับการแจ่งขันรุ่นเยาว์
ตามระเบียบของไทย รักบี้ ฟุตบอลล์ ยูเนี่ยน
ในระหว่างโรงเรียนชั้นเตรียมอุดมศึกษา คือ
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง
โรงเรียนเตรียมนายร้อย โรงเรียนเตรียมนายเรือ
โรงเรียนเตรียมแพทย์ ฯลฯ ขึ้นก่อน
ต่อมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองโรงเรียนชั้นเตรียมอุดมศึกษาถูกยุบเลิกไป
คงเหลือแต่เพียงโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
กระทรวงศึกษาธิการจึงได้อนุญาตให้โรงเรียนสามัญ.งเคยเปิดสอนชั้นมัธยมปลายมาก่อนกลับมาเปิดสอนชั้นเตรียมอุดมศึกษาแทน
วชิราวุธวิทยาลัยซึ่งได้กลับมาเปิดสอนชั้นเตรียมอุดมศึกษาใน
พ.ศ. ๒๔๘๙
จึงได้ส่งนักกีฬารักบี้ฟุตบอลเข้าร่วมการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลประเภทโรงเรียนชิงโล่ของแปนายกกิตติมศักดิ์
ไทย รักบี้ ฟุตบอลล์ ยูเนียนมมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๐
โดยมี นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ดนัย บุนนาค (น.พ.ดนัย
บุนนาค) เป็นหัวหน้าชุดคนแรก
และวชิราวุธวิทยาลัยได้ครองโล่รักบี่ยูเนียนของสมาคมรักบี้ฟุตบอลแห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรกมาตั้งแต่
พ.ศ. ๒๔๙๗
และได้ครองโล่นี้ต่อเนื่องกันมาหลายสิบปี
จนสื่อมวลชนขนานนามว่า วชิราวุธวิทยาลัย
แชมรักบี้ตลอดกาล
จากการที่วชิราวุธวิทยาลัยประสบความสำเร็จในการส่งเสริมให้นักเรียนเล่นกีฬารักบี้ฟุตบอลมาเป็นลำดับ
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๒
ท่านผู้บังคับการพระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ
อิศรเสนา) ซึ่งเป็นนักเรียนเก่าโรงเรียนอาวน์เดิล
(Oundel School)
พับลิตสกูลที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศอังกฤษ
ได้เดินทางไปพบผู้บริหารโรงเรียนมาเลย์คอลเลจ (The
Malay College)
ซึ่งเป็นพับลิคสกูลชั้นนำของสหพันธรัฐมลายู
ที่ได้ชื่อว่าโรงเรียนอีตัน (Ton College)
แห่งเอเชียอาคเนย์
และเป็นโรงเรียนที่มีอายุของโรงเรียนใกล้เคียงกับวชิราวุธวิทยาลัย
เพื่อชักชวนให้มีการแข่งขันรักบี้ประเพณีระหว่างนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
กับเดอเะมาเลย์คอลเลจ
 |
นักกีฬารักบี้ฟุตบอลเดอะมาย์คอลเลจ
ซึ่งมาแข่งขันรักบี้ฟุตบอลประเพณีกับวชิราวุธวิทยาลัย
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓
ถ่ายภาพร่วมกันที่หน้าตุกพยาบาล (ปัจจุบันคือ
หอประวัติ) ซึ่งจัดเป็นที่พักรับรอง |
เมื่อตกลงกันได้แล้ว
วชิราวุธวิทยาลัยจึงได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลประเพณีครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
โดยเดอะมาเลย์คอลเลจได้มาเป็นแขกของวชิราวุธวิทยาลัย
และปีถัดมาวชิราวุธวิทยาลัยได้เดินทางไปแข่งขันกับเดอะมาเลย์คอลเลจ
ที่กรุงกัวลากังสา (Kuala Kangsar) รัฐเปรัค (Perak)
สหพันธรัฐมลายู
และได้ผลัดกันเป็นเจ้าภาพมาเป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน
โดยเว้นว่างไป ๒ ปีใน พ.ศ. ๒๕๑๓ - ๑๔
เพราะผู้บริหารเดอะมาเลย์คอลเลจในเวลานั้นไม่สนับสนุนกีฬาชนิดนี้
 |
นักกีฬารักบี้ฟุตบอลวชิราวุธวิทยาลัยชุดที่ลงแข่งขันรักบี้ฟุตบอลประเพณี
กับเดอะมาเลย์คอลเลจ
เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
(แถวหลังจากซ้าย) |
สมพงศ์ แสงศิริ (ผู้กำกับเส้น),
สมบัติ ณ นครพนม,
ณรงค์ ไหลมา,
สหัส กงษ์เหิร,
เสน่ห์ ชัยนิยม,
สมกัยรติ ตันติผลาผล,
สมทบ ลีสวรรค์,
ประยุตติ ปริกสุวรรณ,
ม.ร.ว.จิริเดชา กิติยากร |
(แถวหน้าจากซ้าย) |
จิราคม ขจัดสรรพโรค (หัวหน้าชุด),
อุดมเดช ชาญชยศึก,
เชิดศักดิ์ ธีระบุตร,
ภิญโญ จริโมภาส,
จักร จักษุรักษ์,
ประทักษ์ ประทีปะเสน,
ศรศิลป์ จักษุรักษ์ |
|
ในการแข่งขันรักบี้ประเพณีกับเดอะมาเลย์คอลเลจในระยะแรกนั้น
เมื่อเดอะมาเลย์คอลเลจเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ แล้ว
วชิราวุธวิทยาลัยได้จัดให้ทีมเดอะมาเลย์คอลเลจลงแข่งขันกับทีมรักบี้ฟุตบอลของโรงเรียนชั้นนำของไทย
เช่น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
และโรงเรียนเตรียมทหารด่อน
แล้วจึงแข่งขันประเพณีกันในนัดที่สาม
ส่วนทีมวชิราวุธวิทยาลัยเมื่อเดินทางไปแข่งขันกับทีมเดอะมาเลย์คอลเลจ
ทางเดอะมาเลย์คอลเลจก็ได้จัดให้ทีมวชิราวุธวิทยาลัยได้ลงแข่งขันอุ่นเครื่องกับทีมโรงเรียนชั้นนำของมลายู
๒ ครั้ง
ก่อนที่จะแข่งขันประเพณีกับเดอะมาเลย์คอลเลจเช่นเดียวกัน
แม้การแข่งขันรักบี้ฟุตบอลประเพณีกับเดอะมาเลย์คอลเลจ
วชิราวุธวิทยาลัยจะเป็นผู้ชนะมาเกือบจะตลอดทุกครั้งก็ตาม
แต่ด้วยน้ำใจของนักกีฬาทั้งสองทีมนั้นคงฝังรากลึกกันมาตลอด
แม้ต่างก็จบการศึกษาเข้าสู่วัยทำงานกันแล้ว
มิตรภาพของนักเรียนทั้งสองโรงเรียนก็ยังคงแน่นแฟ้น
มีการพบปะสังสรรค์และและประสานประโยชน์ทั้งทางราชการและธุรกิจในความรับผิดชอบของกันและกันมาด้วยดีตลอดมาถึงปัจจุบัน