"ในหลวงประทับที่ตึกกงสุลไทยประจำสิงคโปร์
ส่วนบรรดามหาดเล็กพักอยู่ที่โรงแรมกู๊ดวู๊ดฮอลล์
[๔]
(ซึ่งเดิมเป็นสถานทูตเยอรมัน)
ในหลวงไม่ทรงมีเวลาว่างเลย
มีผู้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จไปที่นั่นที่โน่นทุกชั่วโมง
มิได้ทรงว่างสักชั่วโมง บรรทมก็ดึก
ถึงเวลาเสวยก็ไม่ต้องใช้มหาดเล็ก
เพราะการรับรองเขาใช้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิงคโปร์
ยามทางเราก็ไม่ต้องจัดเฝ้าเขาจัดยามโดยใช้ทหารอังกฤษ
ทางการทหารอังกฤษไปตั้งกองเกียรติยศ และจัดวางยามกันทั่วๆ
ไป...
เพราะมีเวลาว่างเที่ยวเตร่กันบ้าง มีเหตุเคราะห์ร้ายจนได้
ในวันที่ผู้ว่าราชการสิงคโปร์ทูลเชิญเสด็จเสวยที่ "แรฟเฟิลโฮเต็ล"
พร้อมด้วยข้าราชบริพาร
เขาได้ทำการ์ดชื่อวางไว้ที่โต๊ะและจัดรถไปรับ
เจ้าพระยารามราฆพบอกให้พระวิเศษพจนกร
[๕]
(ต่อมาเป็นพระไผทสถาปัต) เป็นผู้บอกชื่อให้ฝรั่งจด
บังเอิญลืมบอกไปเสีย ๖-๗ คน คือ
๑. พระยาอนุชิตชาญชัย
๒. พระยาอิศรา
[๖]
๓. จมื่นเสมอใจราช [๗]
๔. นายจ่าเรศ (ในรัชกาลที่ ๗ เป็นพระนายสรรเพ็ชร)
[๘]
๕. นายขันหุ้มแพร (ม.ร.ว.มานพ) [๙]
๖. นายเสนอหุ้มแพร (ในรัชกาลที่ ๗ เป็นพระมหาเทพ)
[๑๐]
๗. พระดรุณรักษา
[๑๑]
ทั้ง ๗ คนจึงไม่มีชื่อนั่งโต๊ะและไม่มีรถมารับ
เพราะรถเขาก็แขวนป้ายบอกชื่อคนนั่งด้วยเหมือนกัน
เป็นอันว่าท่านทั้ง ๗ คนไม่ได้ไปแน่นอน
จึงปรึกษาเห็นชอบพร้อมกันว่า
ไปหาอะไรกินเองและเที่ยวกันดีกว่า
ในหลวงทรงพระพิโรธด้วยทรงคิดว่า
ที่มิได้ทรงเห็นบุคคลดังกล่าว
ทรงคิดว่าไม่มีความจงรักภักดีและคงไปเที่ยวหาผู้หญิงกันหมด
อ้ายพวกนี้อาศัยการตามเสด็จมาเที่ยวเตร่กัน
ณ ที่โต๊ะเสวย ทันใดนั้นเจ้าพระยาธรรมาฯ
[๑๒]
ก็ได้กราบทูลว่า
“เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสยุโรป
ได้เคยมีมหาดเล็กตามเสด็จและประพฤติเช่นนี้
พระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงโปรดให้ส่งกลับเมืองไทย
มีมาแล้วเป็นตัวอย่าง”
ในหลวงจึงรับสั่งอย่างทันทีว่า
“นั่น! ต้องเอาอย่างนั้น” แล้วรับสั่งให้เจ้าพระยาธรรมาฯ
จัดการส่งมหาดเล็กทั้ง ๗ คนนั้นกลับกรุงเทพฯ
วันรุ่งขึ้นมหาดเล็กที่จะต้องถูกส่งตัวกลับกรุงเทพฯ
ได้พากันเข้าเฝ้าขอพระราชทานอภัยโทษ
โดยให้เจ้าคุณอนุชิตชาญชัยเป็นหัวหน้านำ เจ้าคุณอนุชิตฯ
และมหาดเล็กเข้าไปรออยู่ในห้องพระบรรทม เห็นว่านานนัก
จึงขึ้นไปบนพระที่ เจ้าคุณอนุชิตฯ
ก็ปลุกพระบรรทมและกราบทูลความจริงที่ไม่ได้รับเชิญจึงไม่ได้ไปนั่งร่วมโต๊ะเสวย
พระองค์ไม่ทรงเชื่อ ดังนั้นต่างก็กราบถวายบังคมลากลับ
เว้นแต่พระดรุณรักษายังหมอบเฝ้าและขอพระราชทานอภัยโทษจนได้
ประจวบเหมาะกับเวลานั้นพระนางเจ้าสุวัทนา
พระวรราชเทวีเสด็จมาถึงทรงทราบเรื่องราว
ได้ช่วยกราบทูลขอให้ทรงยกโทษ
แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ส่งกลับ ซึ่งมีเจ้าพระยาธรรมาฯ
พระยาปฏิพัทธ์ภูบาลได้ดำเนินไปตามพระกระแสรับสั่งเสียแล้ว
จึงเป็นอันว่าท่านทั้ง ๗ ต้องถูกส่งกลับกรุงเทพฯ
ครั้นต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ
แล้ว พระยาอนิรุทธเทวาได้บอกให้บรรดา ๗ สหาย
ที่ถูกส่งกลับจากสิงคโปร์เข้าเฝ้าขอพระราชทานอภัยโทษเสียให้แน่นอน
เวลานั้นนั่งอยู่พร้อมเฉพาะพระพักตร์แล้ว
เพียงแต่ลุกจากเก้าอี้
เข้าไปกราบพระบาทกราบทูลขออภัยโทษก็เพียงพอแล้ว
พระดรุณรักษาได้เป็นคนแรกที่ลุกขึ้นไปเฝ้าตามคำแนะนำของพระยาอนิรุทธฯ
ต่อๆ มาก็พระยาอิศราฯ เจ้าหมื่นเสมอใจราช นายจ่าเรศ
นายขันหุ้มแพร และนายเสนอหุ้มแพร ตามกันไปเป็นลำดับ
พระยาอนุชิตชาญชัย คนเดียว
ไม่ยอมไปขออภัยนั่งสูบไป๊เฉยอยู่ ต่อให้ใครๆ
ไปบอกก็ไม่ยอมเชื่อ พร้อมกับพูดว่า
“ผมไม่มีความผิด จะไปขอโทษทำไม?”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นว่า
เจ้าคุณอนุชิตฯ ดื้อไม่ยอมขอโทษ
ก็ทรงพระพิโรธถึงกับรับสั่งว่า จองหอง ไม่ขอเห็นหน้า
ห้ามไม่ให้เข้าเฝ้าอีกต่อไป
พระยาอนุชิตฯ ก็ได้ลงกราบถวายบังคมลา
แล้วฉวยหมวกออกเดินไปขึ้นรถยนต์กลับบ้านเลย”
[๑๓] |